วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตแต่งงาน(2)

ด้วยพระนามของพระองค์ผู้ทรงสร้าง


5. จงมีความอดทนอารมณ์ดี
และการยิ้มแย้มแจ่มใสของคุณผู้เป็นภรรยานั้น ทำให้สามีรู้สึกถึงความโชคดี และสบายใจที่สุด หลังจากที่สามีกลับมาจากที่ทำงานด้วยกับปัญหา และความวุ่นวายที่ประสบจากข้างนอก สถานที่พึ่งพิง และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีที่สุดสำหรับผู้เป็นสามีคือ บ้าน สำหรับสามีแล้วบ้านเป็นที่ที่ทำให้ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยทั้งหลาย ผ่อนคลายลง สำหรับผู้เป็นภรรยาแล้วการทำให้บ้านเป็นสถานที่ผ่อนคลาย และผู้แบกรับความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยของสามีถือเป็นหน้าที่สำคัญ บ้านที่มีความสงบ บ้านที่มีบุคคลในครอบครัวมีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มให้แก่กันและกัน ก็ยิ่งทำให้ความรัก และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น ความอดทนและความอดกลั้นในปัญหาต่างๆ โดยแฝงด้วยรอยยิ้มเข้ามาแทนที่ ยิ่งทำให้สิ่งดีๆเข้ามาสู่ในครอบครัว ดีกว่าหรือไม่? หากว่าบ้านเป็นสถานที่สงบสำหรับทุกคนในครอบครัว สำหรับครอบครัวมุสลิมแล้ว บทเรียนที่อัลลอฮ์ (ซ.บ) ได้มอบให้กับมนุษย์ทั้งหลายที่ว่า انًّ الله مَعَ الصَابِرين "แท้จริงพระองค์ทรงอยู่กับผู้ที่อดทน" ไม่ว่าจะมีปัญหาใดเข้าพระองค์ทรงอยู่กับพวกเขา
6. ทำอย่างไร ให้สามีมีส่วนร่วมกิจกรรมในบ้าน?
สาเหตุที่กิจกรรมในบ้านส่วนใหญ่แล้วสามีไม่ค่อยมีส่วนร่วมด้วย สามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มได้ดังนี้- ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามีส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้เป็นภรรยา การที่สามีมีส่วนร่วมกิจกรรมในครอบครัวนั้น ถือไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ชาย เพราะผู้ชายมีหน้าที่รับผิดชอบเพียงภาระกิจนอกบ้านเป็นเพียงพอแล้ว- ในกลุ่มที่สาม การที่สามี หยิบจับ หรือคิดที่จะช่วยงานใดงานหนึ่ง ภรรยามักจะไม่พอใจ เพราะเนื่องจากว่า ความละเอียดอ่อนของผู้ชายนั้น ย่อมมีน้อยกว่าผู้หญิง จึงไม่ยินยอมที่จะให้สามีกระทำ และแสดงความเหนื่อยหน่ายของผลงานที่ได้รับ- รูปแบบการปฏิบัติของภรรยาที่มีต่อสามี เสมือนนายสั่งลูกจ้าง ในลักษณะข้อสามนี้ ถือเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เมื่อต้องการความช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือต้องให้เกียรติต่อผู้เป็นสามี กิจกรรมในบ้านจริงอยู่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เป็นภรรยา แต่เมื่อบางครั้ง ความต้องการความช่วยเหลือในบางกรณีก็มีบ้าง เมื่อสามีเป็นผู้หยิบยื่นให้ความช่วยเหลือดังกล่าวแก่ผู้เป็นภรรยา ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ความรู้สึกที่ดีจะเกิดกับคนทั้งสองมากยิ่งขึ้น การให้ความช่วยเหลือต่อกันไม่ว่าจะเป็นภาระกิจหนักเบา ยิ่งทำให้คนทั้งสองมีความสัมพันธฺ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น เช่นกันฝ่ายภรรยา เมื่อสามีแสดงความช่วยเหลือในกิจกรรมในบ้าน ไม่ว่าผลลัพธ์นั้น อาจไม่เป็นที่พอใจมากนัก ควรเก็บการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมต่อน้ำใจที่สามีหยิบยื่นให้ ดีกว่าที่จะแสดงความไม่พอใจออกมา ดังนั้น สำหรับบุคคลสองคนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมในบ้านนั้น เป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามารถแสดงออกถึงความห่วงใย และการแสดงความรักให้แก่กันและกัน
7. อาหารสื่อรัก
รายงานจากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กล่าวว่า "สตรีที่ทำอาหารเลิศรสให้กับสามีของนาง อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงเตรียมอาหารสวรรค์ที่หลากหลายไว้ให้กับนาง และกล่าวกับนางว่า "จงกิน และดื่มเถิด ในช่วงที่เจ้าได้ผ่านความลำบากมา"(หิลลียะตุ้ลมุตตะกีน หน้าที่ 64) การทำอาหารที่ถูกปากสามี เป็นอีกหนทางหนึ่งที่แสดงถึงความรัก และการให้ความสำคัญต่อผู้เป็นสามี และสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญต่อสุขภาพและพลานามัยของสามี อาหารแต่ละมื้อควรมีคุณค่า และประโยชน์ต่อร่างกาย ตามความต้องการที่เหมาะสม อาหารที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายควรที่ต้องพิจารณาให้มาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อผู้เป็นสามี ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นแนวทางที่จะทำให้คู่ชีวิตแต่งงานนั้น ไม่รู้สึกจืดจาง แม้เวลาก็ไม่สามารถที่จะละลายความมั่นคงดังกล่าวได้ อย่าลืมว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ชีวิตคู่ที่ดีนั้น คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เข้าใจกันและกัน พูดคุยกันได้ในเรื่องต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็นคู่ชีวิตที่ช่วยพยุงความศรัทธา และศาสนาให้คงอยู่ในครอบครัวตลอดไป.

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตการแต่งงาน


ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตาเสมอ
การแต่งงานเป็นพิธีกรรมการยืนยันของความรักระหว่าง หนึ่งชายและหนึ่งหญิง ที่พร้อมและตกลงจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ในพิธีกรรมนี้ยังเป็นเสมือนการให้สัตยาบันซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย ว่า "จะรักษาความรัก และจะให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใดก็ตาม" ซึ่งแน่นอน สาเหตุของการเกิดพิธีกรรมนี้ ก็เริ่มมาจากความรักที่ทั้งสองมีให้กัน นอกจากความรักแล้ว ความคล้ายคลึงที่ทั้งคู่มี และความเข้ากันได้ยังเป็นสาเหตุของพิธีกรรมนี้อีกด้วย. แต่ความรักและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความรู้สึกดีๆนี้ จะสร้างให้คงอยู่ไปตลอดได้อย่างไร? สำหรับมนุษย์ทุกๆคนแล้ว การที่จะจินตนาการสิ่งดีๆ หรือชีวิตที่ดี เกี่ยวกับชีวิตการแต่งงานนั้น จำเป็นต้องมีแบบอย่าง และสัมผัสแบบอย่างที่ดีเหล่านั้น ถึงจะทำให้เกิดการจินตนาการและการปฏิบัติที่ดีต่อกันและกัน และสำหรับมนุษย์ทุกๆคนที่อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงบันดาลให้เป็นคู่ๆนั้น หากต้องการความสมบูรณ์ในชีวิต ก็ต้องหาแบบอย่างจากบุคคลที่พระองค์ทรงอนุญาติให้พวกเขานั้น เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้กับมนุษย์ทุกคน.
ข้อปฏิบัติ 7ประการสำหรับชีวิต
1.ช่วยเหลือตักเตือนซึ่งกันและกันในการปฏิบัติอะมั้ลทั้งวาญิบ และมุสตะหับ
คู่สามีและภรรยาที่มีเป็นมุสลิมและมีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ)ซึ่งเป้าหมายของการแต่งงาน และการใช้ชีวิตคู่ของพวกเขานั้นคือการเป็นบ่าวที่ดีครั้งที่ท่านนบี (ซ.ล) ถามจากท่านอิมามอะลี (อ) ถึงท่านหญิงฟาติมะห์ (ซ)ว่า "ท่านเห็นว่าฟาติมะห์เป็นอย่างไร?" ท่านอิมามอะลี (อ)กล่าวตอบว่า "นางคือเพื่อนที่ดีที่สุดในหนทางแห่งการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ)"รายงานหนึ่ง จากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กล่าวว่า "เมื่อสามีทำการปลุกภรรยาของเขาในยามค่ำคืน และทั้งสองได้ทำน้ำนมาซและทำการนมาซร่วมกัน เขาทั้งสองชายและหญิงจะถูกบันทึกไว้ว่าเป็นคู่ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซ.บ) มากที่สุด" (มีซานุ้ลหิกมัต เล่มที่ 7 หน้าที่ 3149)
2. เมื่อสามีเหนื่อยจากที่ทำงานจะปฎิบัติต่อสามีอย่างไร?
2.1 ให้สลามพร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้ม
2.2 พูดคุยถึงข่าวที่ดีๆ
2.3 เก็ขข้าวของที่สามีซื้อมาจากข้างนอก
2.4 ทำให้บ้านสงบ
2.5 จัดแจงเรื่องอาหารให้พร้อม
2.6 ให้โอกาสต่อสามีในการพูดคุย
3. ถ้าหากสามีกลับบ้านช้า จะปฎิบัติกับเขาอย่างไร?
สาเหตุนี้มักจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งระหว่างคู่สามี และภรรยา ซึ่งในบางครั้ง ความวิตกกังวลของผู้หญิงนั้นมักจะทำลายความรู้สึกดีๆทุกอย่าง และอาจจะทำลายสภาพแวดล้อมของครอบครัวด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ในการสอบถามสาเหตุของการกลับบ้านช้านั้น จำเป็นต้องมีพฤติกรรมและวาจาที่สุภาพ เพื่อแสดงออกถึงความกังวล และเป็นห่วง แต่ถ้ามีวาจาก้าวร้าว อารมณ์ที่ฉุนเฉียวนั้น ย่อมที่จะทำให้ผลที่ได้รับนั้นย่อมไม่ดีเท่าที่ควร.
ดังนั้นในทางกลับกัน การที่จะรักษาสภาพครอบครัวและจะไม่ให้เกิดความวิตกกังวลในผู้หญิง จำเป็นที่สามีต้องบอกถึงความล่าช้าจากเวลาปกติ เพื่อว่าการจัดเตรียมความพร้อมของบ้าน และอาหารจะเป็นที่ง่ายสำหรับผู้หญิงอีกด้วย เพียงสร้างความสบายใจให้แก่กันและกัน ปัญหาต่างๆก็ย่อมที่จะคลี่คลาย.
4. เมื่อสามีเกิดอาการขรึม จะปฏิบัติอย่างไร?
อาการขรึม เงียบ เมื่อเกิดขึ้นในครอบครัว แน่นอนย่อมจะไม่ใช่ผลดี หรืออาจทำให้เกิดความวิตกกังวลของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสามี หรือภรรยา หากมีอาการนี้เกิดขึ้น. แต่ที่สำคัญสำหรับผู้หญิงเอง เมื่อเห็นสามีมีอาการเช่นนี้ ก็มักจะคิดไปต่างๆนาๆ ว่าเรื่องคงเกี่ยวกับตัวเอง หรือทำอะไรให้เกิดความไม่พอใจ ดังนั้นจึง เกิดการซักถาม ซึ่งบางครั้ง กลายเป็นการสร้างความรำคาญให้กับสามี แต่อยากจะบอกกับบรรดาสามีทั้งหลายว่า ผู้หญิงนั้นมีสิทธิที่จะคิดเช่นนั้น เพราะความเอาใจใส่ และการดูแลทั้งหลายในบ้าน ล้วนเป็นของภรรยา ดังนั้น ปัญหาที่มีอยู่ในใจ หรือความไม่สบายใจต่างๆนั้น ควรมีการพูดจา หรือปรึกษาหารือกัน. ในอีกด้านหนึ่ง ก็อยากจะบอกกับบรรดาภรรยาทั้งหลายว่า ผู้ชายส่วนมาก ไม่ชอบที่จะให้ผู้หญิงมาพัวพันปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากนอกบ้าน ดังนั้น เป็นการดีของทั้งสองฝ่าย ผู้หญิงควรให้เวลาแก่สามีในการคิด และพิจารณากับปัญหาที่กำลังครุ่นคิดอยู่ และให้โอกาสสามีเป็นผู้เอ่ยถึงปัญหาดังกล่าว หรือให้สามีเป็นผู้ขอคำปรึกษานั้น จะเป็นการดีกว่าที่ผู้หญิงจะเข้าไปซักไซร้ถึง อาการเงียบขรึมนั้น.
ต่อฉบับหน้าจ๊ะ

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ความสำคัญของช่วงวัยรุ่นในทรรศนะอิสลาม


الله الّّذي خلقكم من ضُعفٍ قوّة ثمّ جعل من بعد قوة ضعفا و شيبة لخلق ما يشاء و هو العليم القدير

" อัลลอฮ์ ทรงบันดาลพวกเจ้าโดยเริ่มมาจากความอ่อนแอ หลังจากนั้น ทรงบันดาล ความแข็งแรง ภายหลังความอ่อนแอ แล้วก็ทรงบันดาล ความอ่อนแอ และความหงอก ภายหลัจากความแข็งแรง พระองค์ทรงบันดาลสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงรอบรู้ยิ่ง ทรงเดชานุภาพยิ่ง" (ซูเราะห์ รูม อายะห์ที่ 54)
อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงกล่าวถึงลำดับขั้นการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ลำดับดังนี้

1. วัยเด็ก (ความอ่อนแอ)
2. วัยรุ่น (ความแข็งแรง)
3. วัยชรา (ความอ่อนแอ)
ซึ่งแต่ละลำดับขั้นแห่งการดำเนินชีวิตนี้ มนุษย์ทุกๆคนต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินชีวิต ดังกล่าวนี้เหมือนกันทุกคน. เนียะอ์มัตและความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมอบให้นั้น อยู่ในช่วงของความแข็งแรง คือในช่วงของความเป็นวัยรุ่น วัยรุ่น เป็นวัยที่เต็มไปด้วยกำลัง และความสามารถรอบด้าน ทั้งความคิด และความกระตือรือร้น และความมุ่งมั่นอันสูงสุดนั้น ได้รวมอยู่ในวัยนี้

วัยรุ่น เป็นวัยที่กล่าวได้ว่า เปรียบเสมือนการมีทุนก้อนโตอยู่ในมือ และพร้อมที่จะกระทำงานหนึ่งงานใด ด้วยกับทุนก้อนนี้ และจำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากทุนที่มีอยู่ในมือ ไม่ได้ความสำคัญ ก็ไม่สามารถที่จะใช้ทุนนี้ ให้เกิดประโยชน์ได้.
ในการใช้จ่ายทุนรอนที่สำคัญนี้ แน่นอนจำเป็นต้องคิด และพิจารณาว่าจะต้องใช้จ่ายทุนก้อนนี้ไปในทางใด ถึงจะเหมาะสม และเกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ถ้าหากการใช้จ่าย โดยไม่มีการวางแผน ควบคุมในการใช้ แน่นอนที่สุด ทุนก้อนนี้ก็อาจจะละลายหายไป โดยที่ไม่มีสิ่งเกิดประโยชน์เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย. เช่นเดียวกัน วัยรุ่น เป็นวัยที่พระองค์ทรงประทานโอกาส เพื่อแสวงหาความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จที่ อิสลามได้ให้การสนับสนุนนั้น ไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จที่มีอยู่ในโลกนี้เท่านั้น แต่ความสำเร็จที่อิสลามได้ให้กับมนุษย์ทุกๆคนแสวงหาคือ ความสำเร็จทางโลกหน้า นั่นคือความสำเร็จที่แท้จริง.
บุคคลที่อยู่ในช่วงวัยนี้ ในทรรศนะของอิสลาม ถือเป็นสิ่งจำเป็นหากเราต้องศึกษา และรู้จักตัวเราเอง การรู้จักตัวเอง ไม่ได้หมายความว่า ให้เรารู้เพียงอย่างเดียวว่า เราเป็นใคร? แต่การรู้จักตัวเองในที่นี้ หมายถึง การรู้ว่า ในวัยนี้ มีความสำคัญมากน้อยแค่ใหน? และควรที่จะทำอะไร?

อิมามอะลี (อ) กล่าวว่า شيئان لا يعرف فضلهما الا من فقدهما : الشباب و العافية
"มีสองสิ่ง ที่คุณค่าของมัน จะถูกรู้จักก็ต่อเมื่อ สูญเสียทั้งสองสิ่งนี้ไป สิ่งแรกคือ ช่วงวัยรุ่น และสิ่งที่สองคือ ร่างกายที่สมบูรณ์"
(ฆุรอรุ้ลหิกัม หน้าที่ 449)
ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กล่าวว่า
انّ العبد لا تزول قدماه يوم القيامة حتي يسائل عن عمره فيما افناه و عن شبابه فيما ابلاه
"ในวันกิยามัต จะไม่มีบ่าวคนใด ถูกละเว้น จนกว่าจะตอบคำถามทั้งสองคำถามนี้ :
- ชีวิตของเขาถูกใช้ไปอย่างไร?
- ช่วงวัยรุ่นของเขาถูกใช้ไปอย่างไร?
ดังนั้น เมื่อได้รู้ถึงความสำคัญ และคุณค่าแห่งวัย สิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำคือ การแสวงหาประโยชน์ การตักตวงโอกาส ที่อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงประทานให้กับมนุษย์ทุกๆคน โดยผ่านในวัยนี้. แน่นอนที่สุด มีหลายสิ่งที่เป็นอุปสรรค ในการแสวงหาความสำเร็จ เช่น ความสวยงาม และอารมณ์ ที่มาพร้อมกับการเจริญเติบโตของวัยรุ่น แต่หากศึกษาอย่างถ่องแท้ อิสลามได้วางแนวทางในการที่จะผ่านอุปสรรคดังกล่าวนี้ไว้อย่างรัดกุม เช่น ความงามที่ทุกคนมี อิสลามได้บอกถึงวิธีการแต่งกายที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย. การแสดงความงดงามที่ตนมีต่อสายตาภายนอก อิสลามได้วางแนวทางการปฏิบัติอย่างรัดกุมไว้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการพบปะกันระหว่างหญิงชาย ที่สามารถแต่งงานกันได้.ซึ่งข้อปฏิบัติดังกล่าวนี้ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างรัดกุม เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย ที่ไม่ถูกต้องตามประเพณี ปัญหาการคุกคามทางเพศ และปัญหาความเสื่อมทรามของสังคม.

โดยปกติ ในช่วงวัยนี้เป็นวัยที่ให้ความสำคัญต่อรูปร่างและหน้าตาของตนเองเป็นพิเศษ การดูแลตนเอง ให้มีความสะอาด และเรียบร้อยนั้น อิสลามไม่ได้ปิดกั้น และยังสนับสนุนการปฏิบัติดังกล่าวอีกด้วย.
อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงตรัสไว้ในโองการหนึ่งว่า :
قل من حرّم زينة الله الّتي اخرج لعباده
"จงประกาศเถิด! บุคคลใดเล่าที่ (จะกล้า) วางกฎห้าม เครื่องประดับของพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำออกมาให้แก่บ่าวของพระองค์" (อะอ์รอฟ อายะห์ที่ 32)

และอีกรายงานหนึ่ง จากการปฏิบัติของท่านอิมามหะซัน(อ) ทุกๆครั้งเมื่อเข้าเวลานมาซ ท่านจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด และตกแต่งตัวเองก่อนเสมอ บุคคลหนึ่ง ถามท่านจากการปฏิบัตินั้น ท่านกล่าวตอบว่า "อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงงดงาม และพระองค์ทรงชอบความสยงาม ดังนั้น เมื่อฉันใกล้ชิดยังพระองค์ จึงต้องจัดแต่งตนเองให้สวยงาม"
และอีกรายงานหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก(อ) กล่าวว่า เมื่อชายคนหนึ่งมาหาท่าน และต้องการที่จะพบกับท่าน ในขณะที่ท่านกำลังจะออกไปพบกับเขา ท่านยืนอยู่ข้างอ่างใส่น้ำใบใหญ่ และจัดแต่งทรงผม และใบหน้าของท่านอย่างเรียบร้อย. พระนางอาอิชะฮ์ เมื่อเห็นดังนั้นรู้สึกแปลกใจ และถามกับท่านรอซูล(ซ.ล) ว่า "เวลาที่ท่านจะออกไปพบปะใคร ท่านต้องไปยืนอยู่ข้างอ่างใส่น้ำ และจัดแต่งทรงผม และใบหน้าของท่านอย่างเรียบร้อยเล่า?
ท่านกล่าวตอบว่า "อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงชอบการตกแต่งตัวเอง ก่อนที่เขาจะไปพบกับพี่น้องมุสลิมของเขา".(มะการิมุ้ลอัคลาก หน้าที่ 51)

ความงดงามที่กล่าวถึง อิสลามมิได้ให้ความสำคัญเพียงความงามภายนอกเท่านั้น แต่ความงามภายในอิสลามถือเป็นเรื่องสำคัญ และถือเป็นสิ่งคุณค่ามากกว่าความงามภายนอก ดังนั้น หากวัยรุ่นคนหนึ่ง ความงดงามของเขที่มีอยู่แล้ว และประดับประดาตนเองด้วยกับจริยธรรมมารยาทที่ดีงามด้วยแล้ว นั่นคือความงามที่สมบูรณ์ ณ อัลลอฮ์ (ซ.บ)
โดยแท้จริงความงดงามของจิตใจ และความปราถนาในคุณงามความดีทั้งหลายนั้น มีคู่กับมนุษย์ทุกๆคน มาตั้งแต่เกิด ถือได้ว่า เป็นสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ก็ว่าได้ แต่การที่จะให้ความงดงามดังกล่าวนั้น อยู่คู่กับมนุษย์ไปตลอดถือเป็นเรื่องยาก และจำเป็นต้องได้รับการปลูกฝัง และการชี้นำอย่างดี.
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจจะลืมได้เลยเมื่อกล่าวถึงวัยรุ่น นั่นคือ วัยแห่งโอกาส เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน เมื่อรู้ว่ามีโอกาสก็ต้องรีบตักตวง เพื่อให้ได้ประโยชน์กับตนเองให้มากที่สุด แต่น้อยคนนัก ที่จะมองโอกาสของชีวิต ซึ่งโอกาสที่มีคุณค่ายิ่งของชีวิต ในทรรศนะของอิสลาม ไม่ใช่โอกาสที่มนุษย์แสวงหาความสะดวกสบายให้กับชีวิตเท่านั้น เพราะความสบายดังกล่าวนั้น เป็นความสบายเพียงภายนอก แต่โอกาสที่แท้จริงคือโอกาสของชีวิตนั่นคือ ช่วงวัยรุ่นที่พระองค์ทรงประทานความโปรดปรานไว้อย่างมากมาย ทั้งกำลังความสามารถ ความกระตือรือร้น และสติปัญญาที่พร้อม ดังนั้น โอกาสที่ตักตวงไม่เพียงแต่กำลังความสามารถที่ใช้ไปกับการงานอย่างเดียว การปฏิบัติต่อพระองค์ และการใกล้ชิดยังพระองค์นั้น ก็ถือเป็นโอกาสที่มีคุณค่าที่สุด เพราะเมื่อผ่านพ้นวัยนี้ ความอ่อนแอที่เข้ามาคือความเฉื่อยชา และความเมื่อยล้า ความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความใกล้ชิดยังพระองค์นั้น น้อยมาก แต่การสะสมไว้ตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น เป็นทุนสร้างความรักในการปฏิบัติที่จะเข้าหาพระองค์อย่างจริงใจและบริสุทธิ์. สิ่งสำคัญที่จะทำให้โอกาสนี้ได้ใช้อย่างเกิดประโยชน์คือ การรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความหมดหวัง และความกังวลในภายหลัง เพราะผู้ที่รู้จักหน้าที่ของตน และความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เขานั้น จะมีคำถามให้กับตนเองอยู่เสมอว่า "ตอนนี้จะต้องทำอะไร?"และเขาจะเป็นผู้ได้รับความสำเร็จจากสิ่งที่เขากระทำ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดความวิตกกังวลในการปฏิบัติการงานของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่ในทางกลับกัน ความกังวลและความวิตกจะเกิดขึ้นกับบุคคล บุคคลนั้นอย่างแน่นอน หากเขาไม่รู้ว่า เขามีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไร ? ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่า วัยรุ่นทุกวันนี้ประสบกับปัญหาเรื่องความวิตกกังวล เป็นส่วนใหญ่.

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ท่านหญิงฟาติมะห์(ซ) ผู้ดำรงศักดิ์ศรีของสตรี

فاطمة بضعة منّي فمن أغضبها أغصبني
"ฟาติมะฮ์ คือ ส่วนหนึ่งของฉัน ใครที่ทำให้นางโกรธ ก็เท่ากับทำให้ฉันโกรธ"
(หนังสือ บุคอรี บาบ มุนากิบ ฟาติมะฮ์ เลขที่ 3714)
เนื่องในวันครบรอบการเสียชีวิตของท่านหญิงฟาติมะห์ (ซ) บุตรีอันเป็นที่รักยิ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ขอแสดงความเสียใจแด่พี่น้องมุสลิมทุกท่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องผู้ร่วมสายธารแห่งอะห์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา (ซ.ล)
แน่นอนที่สุด เรื่องราวที่ดิฉันนำมาฝากท่านผู้อ่าน ก็ต้องเป็นเรื่องราวของท่านหญิง ฟาติมะฮ์ (ซ) ซึ่งบางท่านก็คงได้ยินชื่อ นามของท่านบ้าง แต่สำหรับบางท่าน ยังไม่เคยได้ยิน หรือ ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็เป็นที่น่าสลดอย่างยิ่ง ทำไม?
ทำไม เราถึงไม่รู้จักบุตรีของท่าน เรารู้จักเพียงท่านรอซูล (ซ.ล) รู้จักบรรดาภรรยาของท่าน แต่บุตรีของท่านเราไม่รู้ถึงประวัติชีวิตของนางเลยแม้แต่น้อย เป็นไปได้อย่างไร?
สำหรับบทความในวันนี้ เรามาทำความรู้จักท่านหญิง ฟาติมะฮ์ (ซ), ท่านหญิงฟาติมะฮ์ เป็นบุตรีของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) และท่านหญิง คอดีญะฮ์ (อ) บุตรีของคุวัยลิด นางเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์แห่งตระกูลกุเรช นางเป็นหญิงคนแรกที่ยอมรับการเป็นศาสดาของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) และนางเป็นผู้ยืนเคียงบ่าเคียงใหล่กับท่านศาสดา (ซ.ล) มาตลอดการเผยแพร่ของท่าน. ท่านหญิงคอดียะห์ นางคือ ผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรัพย์สิน เงินทองของนางที่มีอยู่ นางได้สละให้กับท่านนบี เพื่อใช้ในหนทางการเผยแพร่ศาสนาของท่าน.
ในบันทึกของ ฮิชาม กล่าวไว้ว่า "ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) มอบความรัก และให้เกียรติ ต่อท่านมาก ไม่ว่าจะการงานใด ท่านหญิงจะเป็นที่ปรึกษาให้กับท่านเสมอ. นางคือสตรีที่มีทรรศนะกว้าง นางเป็นผู้ศรัทธาคนแรก และในช่วงที่ท่านหญิงคอดีญะห์มีชีวิตอยู่นั้น ท่านศาสดาไม่คยมีหญิงใดเลย".
นี่เป็นเพียงการแนะนำพอสังเขปผู้เป็นมารดาของท่านหญิง ซะฮ์รอ (ซ) ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงผู้เป็นบิดา สำหรับมุสลิมทั้งหลายเป็นที่ทราบและรู้จักกันเป็นอย่างดี. แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่จะรู้จักความสัมพันธ์ของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กับบุตรีของท่าน ฟาติมะฮ์ (ซ).
ท่านหญิงฟาติมะห์ (ซ) ท่านเกิดในสมัยยุคมืดของชาวอาหรับ ที่มีแต่ความโสมมในการดำเนินชิวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชนในยุคนั้น กับการปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง ยุคที่ไร้ซึ่งจริยธรรมในการดำเนินชีวิต และการฝังบุตรสาวของตนทั้งเป็น การบีบบังคับสตรีให้ใช้ชีวิตแต่งงาน หรือการริดรอนสิทธิของสตรี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกที่จะใช้ชีวิต หรือการได้รับสิ่งที่นางสมควรจะได้ เช่น มรดกของผู้เป็นบิดา หรือสามี รายได้ที่นางได้หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของพวกนางเอง สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้น ในสมัยของอาหรับยุคมืด. การประกาศอิสลาม และการปฏิบัติของท่านศาสดาที่มีต่อบรรดาภรรยา และบุตรีของท่าน เป็นแบบอย่างที่สำคัญ และเป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชนอาหรับในยุคนั้นด้วย ดังนั้น การที่อิสลามได้ประกาศความเป็นอิสระของสตรีในการเลือก หรืออิสลามได้ให้ความเท่าเทียมความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงและชาย หรือแม้แต่การปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลาย ถือว่าสตรีนั้นมีส่วนร่วมและสามารถได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซ.บ) เท่าเทียมกับเหล่าบรรดาบุรุษ ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) ได้ปฏิบัติต่อบุตรีของท่านตรงข้ามกับที่ชนอาหรับยุคนั้นปฏิบัติต่อบุตรีของพวกเขา เช่น ท่านให้ความรัก ความเอ็นดู ให้เกียรติต่อบุตรสาวของท่าน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชนชาติอาหรับ ฉะนั้น เกียรติและศักดิ์ศรีของสตรีที่ท่านศาสดาได้นำมาประกาศต่อประชาชาตินั้น ท่านได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างโดยกับท่านหญิงฟาติมะฮ์ (ซ) เช่น
- สิทธิในการมีชีวิต ซึ่งเมื่อท่านทราบว่า บุตรของท่านเป็นเด็กผู้หญิง ท่านไม่ได้ฝังบุตรสาวของท่านทั้งเป็นเหมือนอย่างที่ชาวอาหรับได้กระทำ.
- การได้รับเกียรติ ในรายงานกล่าวไว้ว่า "ทุกครั้งที่ท่านหญิง ฟาติมะห์ (ซ.)เข้ามาหาท่านรอซูล (ซ.ล) ท่านจะลุกขึ้น และให้นั่งตรงที่ของท่าน"
ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สตรีก็สมควรที่จะได้รับเกียรติเช่นกัน สตรีในยุคนั้น ถูกปฏิบัติเหมือนสาวใช้ และโดนดูถูกในความเป็นสตรีของพวกนาง
- สิทธิในการเลือก ท่านศาสดาได้มอบสิทธิในการเลือกให้กับท่านหญิงฟาติมะห์ (ซ) เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มชนในยุคนั้น. เมื่อมีบุคคลต่างๆ จากบรรดาผู้นำชั้นสูงมาสู่ขอท่าน ท่านศาสดาได้มอบสิทธิในการเลือกนี้ให้กับท่าน ซึ่งในยุคนั้น การแต่งงานของสตรีนั้น จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครอบครัว หรือหญิงหม้ายครอบครัวของนางจะยกนางให้กับใครก็ได้ตามที่พวกเขาพอใจ.
- สิทธิในการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ในอิสลามมิได้แบ่งแยกความสำคัญดังกล่าวนี้ให้สิทธิเฉพาะบุรุษเท่านั้น อิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษากับสตรีเช่นกัน ท่านหญิงฟาติมะห์ (ซ) ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ในวิชาแขนงต่างๆ จากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) สามารถกล่าวได้ว่า ในยุคของท่านหญิงนั้น ท่านคือครูของบรรดาสตรีทั้งหลาย และท่านยังได้สร้างลูกศิษย์ไว้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นสตรีทั้งสิ้น
- สิทธิการมีส่วนร่วมในสังคม ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ได้เปิดโอกาสให้กับเหล่าบรรดาสตรีเข้าร่วมการนมาซในมัสยิด หรือฟังการบรรยาของท่าน แต่มีเงื่อนไขว่า พวกนางต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาสนาอย่างเคร่งครัด คือ แต่งกายให้มิดชิด ตามแบบฉบับที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ หรือการที่ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (ซ) ได้นำกลุ่มสตรีมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในยามศึกสงคราม หรือแม้แต่การเปิดโอกาสให้กับบรรดาสตรีผู้ไม่รู้ ได้ถามปัญหาที่ตนสงสัย
มีรายงานหนึ่งจากหนังสือ บิฮารุ้ลอันวาร เล่ม 2 หน้า 3 หะดีษที่3 ได้เขียนเอาไว้ว่า "หญิงคนหนึ่งเข้ามาหาท่านหญิง เพื่อที่จะถามปัญหาข้อข้องใจที่มารดาของนางส่งให้นางมาถามท่าน และสำหรับตัวของนางเอง โดยที่ท่านได้ตอบทุกๆปัญหาที่นางถาม จนหลายคำถามมากเข้า นางรู้สึกเกรงใจ จนท่านหญิงกล่าวกับนางว่า "จงถามมาเถอะ" และท่านหญิงได้กล่าวถึงผลตอบแทนของผู้ที่ให้การศึกษาแด่ผู้อื่นต่อนาง.
ศักดิ์ศรีของสตรียังคงดำรงอยู่ต่อไป ถ้าหากได้ดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของท่านหญิงฟาติมะห์ (ซ) เพราะท่านนั้นคือ แบบอย่างของบรรดาสตรีทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552

ด้วยพระนามของพระองค์

ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารหะลาลกับการปฏิบัติคุณงามความดี ในกุรอานกล่าวไว้อย่างไร?
ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงเกี่ยวกับทรัพย์สิน และประเภทของทรัพย์สินที่มนุษย์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับมัน. บางอายะห์กล่าวถึงทรัพย์สินว่าเป็นสิ่งประดับประดา เพียงเพื่อชีวิตในโลกนี้ของมนุษย์เท่านั้น และได้ตักเตือนไว้ว่า อย่าให้ทรัพย์สินนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้หลงลืมพระองค์ และคำสั่งใช้ของพระองค์. และในบางอายะห์ได้เชิญชวนให้มนุยชาติใช้จ่ายทรัพย์สินและแสวงหาทรัพย์สินที่สะอาด ถูกต้องตามหลักการ และห้ามปรามในทรัพย์สินที่ไม่ถูกต้อง.
ในซูเราะห์มุอ์มิน อายะห์ที่ 51 กุรอานได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของการกินสิ่งหะลาล กับการปฏิบัติคุณงามความดี ไว้ดังนี้ว่า
“โอ้ บรรดาร่อซู้ลเอ๋ย ! พวกเจ้าจงบริโภคส่วนที่ดี (ฮะล้าล) และจงกระทำความดีเถิดเพราะแท้จริง ข้ารอบรู้สิ่งพวกเจ้ากระทำ”
จากอายะห์กุรอานบทนี้ สังเกตุได้ว่า ประเภทของอาหารนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งอาหารหลากหลายชนิดนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป โดยจะสังเกตุถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประโยคดังกล่าวนี้ที่ว่า “ให้รับประทานอาหารที่สะอาด” และ “ให้ปฏิบัติคุณงามความดี” และอีกเช่นกัน จากอายะห์ดังกล่าวข้างต้นนี้ สามารถที่จะแบ่งได้อีกสามหัวข้อที่สำคัญคือ การปฏิบัติคุณงามความดี หัวข้อที่สอง ผลที่ได้จากการรับประทานอาหารที่สะอาด ซึ่งมีส่วนช่วยให้หัวใจของมนุษย์นั้นบริสุทธิ์และง่ายต่อการขอบคุณพระองค์และเข้าหาพระองค์ และในส่วนสุดท้ายคือ อัลลอฮ์ (ซ.บ) นั้นทรงเฝ้ามองในทุกๆการกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย.
และจากอายะห์กุรอานอีกเช่นกันที่พระองค์ทรงกล่าวถึงเรื่องราวของชาวถ้ำ(อัสหาบ กะห์ฟ) ทรงตรัสว่า “ดังนั้นจงส่งคนหนึ่งในหมู่พวกท่านไปในเมือง พร้อมด้วยเหรียญเงินนี้ของพวกท่าน เพื่อเลือกดูอาหารที่ดียิ่ง และให้เขาซื้อมาให้แก่พวกท่าน” หลังจากที่บรรดาชาวถ้ำได้ตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลเป็นเวลานาน ถึงแม้มีคำสั่งบุคคลหนึ่งจากพวกเขาให้ออกหาซื้ออาหาร ยังต้องเน้นให้หาซื้ออาหารที่สะอาดที่สุด...
หากเราจะเก็บบทเรียนเรื่องความสะอาด ความสะอาดนั้น สามารถมองได้ว่า มีทั้งความสะอาดภายนอก และความสะอาดภายใน ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีความศรัทธาไม่เพียงแต่ต้องระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารที่สะอาดเพื่อจิตใจและจิตวิญญาณที่สะอาดแล้ว อาหารที่สะอาดยังช่วยให้ร่างกายไม่พบกับโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ตาม อย่าได้ละเลยเด็ดขาด.
ในรายงานต่างๆได้เน้นไว้เช่นกันในเรื่องของอาหารการกินนั้น ย่อมมีผลต่อการวิงวอน และปฏิบัติศาสนกิจเพื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ) อย่างเช่นรายงานนี้: ชายคนหนึ่งได้เข้าหาท่านรอซูล (ซ.ล) และได้กล่าวกับท่านว่า “ฉันต้องการให้ดุอาอ์ของฉันเป็นที่ตอบรับยังอัลลอฮ์ (ซ.บ) จะทำอย่างไร?” ท่านนบีกล่าวตอบชายผู้นั้นว่า “จงทำให้อาหารของเจ้านั้นสะอาด และอย่าได้รับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ(หะราม) เด็ดขาด”
อีกรายงานหนึ่ง จากท่านอิมามอะลี (อ) กล่าวว่า “จงรู้ไว้เถิดว่า การปฏิบัตินั้น เสมือนหนึ่งเมล็ดพันธุ์หนึ่ง ที่มิอาจที่จะขาดน้ำได้ในการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นน้ำประเภทใดที่บริสุทธิ์ เมล็ดพันธุ์ที่เจริญเติบโตมากับน้ำที่บริสุทธิ์ย่อมให้ผลผลิตที่ดี มีรสหวานเช่นกัน แต่ถ้าเจริญเติบโตมากับน้ำที่สกปรกเมล็ดพันธุ์นั้นย่อมที่จะไม่สมบูรณ์ และผลผลิตของมันนั้นมีรสขม. ซึ่งการปฏิบัตินั้นก็เช่นกัน จะให้เจริญเติบโตด้วยกับน้ำประเภทใด!”
ดังนั้นพี่น้องมุสลิมที่รัก อาหารการกินของพวกเราทุกวันนี้ ถ้าหากมีการใส่ใจก็จะรู้ว่า สิ่งที่เรารับประทานลงไปนั้น มีผลต่อการปฏิบัติ และสภาพจิตวิญญาณของเราเพียงไร สำหรับผู้ที่รักและศรัทธาในพระองค์ เขาคือผู้ที่ใตร่ตรองเสมอ เพื่อความพอพระทัย และความใกล้ชิดยังผู้ที่ทรงสร้างเขา.

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552

ฐานะของสตรีในโลกทัศน์อิสลาม(3)



بسم الله الرحمان الرحيم



ในประวัติศาสตร์อิสลามได้บันทึกถึงประวัติของเหล่าบรรดาสตรีผู้ดีเด่นและผู้ทรงคุณธรรมจำนนมากมาย และสำหรับสตรีที่มีตำแหน่งและความสูงส่งเหนือกว่าเหล่าบรรดาสตรีทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นคือ ท่านหญิงคอดิญะห์ เป็นภริยาคนแรกขอท่านศาสดา มุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และเป็นภริยาผู้เป็นที่รักที่สุด นางเป็นสตรีท่านแรกที่เชื่อในความเป็นศาสดาของท่าน และนางได้พิสูจน์ให้เห็นการสนับสนุนที่มั่นคงต่อท่าน ในช่วงปีที่เผชิญกับความยุ่งยากลำบากครั้งแรกในภารกิจแห่งการเป็นศาสดาของท่าน. ท่านที่สองคือท่านหญิง ฟาติมะห์ (ซ)เป็นบุตรีของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และเป็นภริยาของท่านอะลี และเป็นมารดาของอิมาม ฮะซัน ฮุเซน. สตรีผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับบรรดาสตรีทั้งหลาย. ท่านที่สามคือพระนางอาซิยะห์ นางคือ ภรรยาของฟิรอูน ที่กดขี่ข่มเหง และสถาปนาตนเองเปรียบเสมือนพระเจ้าของบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลาย พระนางอาซิยะห์ เป็นผู้ที่รักและให้การศรัทธาต่อความเป็นเอกภาพของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) โดยไม่สั่นคลอน และหวาดกลัวต่อการกระทำของฟิรอูนเลยแม้แต่น้อย. และท่านสุดท้ายคือ ท่านหญิงมัรยัม มารดาของท่านนบีอีซา (อ) นางซึ่งได้บรรลุถึงระดับทางจิตวิญญาณอันสูงส่ง พระนางคือผู้ภักดีและเป็นบ่าวที่สูงส่งของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก.
ทรรศนะในการดูถูกและเหยียดหยามศักดิ์ศรีของบรรดาสตรีนั้น อิสลามได้ทำการรณรงค์ และยืนหยัดแสดงถึงความจริง และความถูกต้องในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบรรดาสตรีทั้งหลาย และยังให้เกียรติในสถานภาพของพวกนาง ซึ่งหน้าที่อันประเสริฐยิ่งที่บรรดาสตรีนั้นมีคือ หน้าที่ของมารดา หน้าที่ของภริยา รวมถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาย หรือหญิงย่อมไม่มีความแตกต่างกัน.
ในอีกทรรศนะหนึ่งที่จะขอกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของการละเว้นการใช้ชีวิตครอบครัว ในบางศาสนาถือว่าเพศสัมพันธ์โดยเนื้อแท้แล้วไม่สะอาด ตามการปฏิบัติของผู้ที่ยึดถือตามศาสนาเหล่านี้ถือว่า เฉพาะบุคคลที่ใช้ชีวิตโดยไม่เกี่ยวข้องกับเพศคู่นั้น จะสามารถบรรลุถึงฐานะทางจิตวิญญาณอันสูงส่งได้ท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้นการใช้ชีวิตอย่างสันโดษ และขัดกับตัวตนของความเป็นมนุษย์นั้น แน่นอนย่อมเกิดอุปสรรค และต้องใช้ชีวิตอย่างอดกลั้น อย่างหนักหน่วง และอาจจะสูญเสียการควบคุมตนเองลงไปได้ ฉะนั้น มันจะเป็นการดีกว่าหากการดำรงชีวิต เป็นไปตามธรรมชาติตัวตนอันแท้จริงของมนุษย์.
อิสลามได้ถือว่า การสมรสนั้นเป็นสิ่งที่ดี และการครองชีวิตโดยไม่สมรสนั้นเป็นการกระทำที่ไม่บริสุทธิ์.
อิสลามได้วางบทบัญญัติระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ และข้อจำกัดต่างๆในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้เพื่อเหตุผลต่างๆ ทางสังคมแต่อิสลามไม่เคยพิจารณาว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องของความไม่สมควรและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ.
ในหลายๆเรื่องที่อิสลามมีคำอธิบายและได้ชี้แจงอย่างเด่นชัด โลกและชั้นฟ้า,หมู่เมฆและลมชนิดต่างๆ,พืชพันธุ์และสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมนุษย์ อิสลามไม่เคยกล่าวว่า สตรีถูกสร้างมาเพื่อบุรุษ แต่อิสลามกลับบอกว่า บุรุาและสตรีนั้น แต่ละฝ่ายถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเกื้อกูลต่อกัน
هُنَّ لباسُ لکُم وَ انتُم لباسُ لهُنَّ
“นางทั้งหลายเป็นอาภรณ์สำหรับสูเจ้า (ผู้ชาย) และสูเจ้าก็เป็นอาภรณ์สำหรับนางทั้งหลาย” ซูเราะห์ 2 อายะห์ 187
สิ่งที่อิสลามได้ชี้แจง และวางกฏเกณฑ์ไว้นั้น มิได้หมายความถึงการตีกรอบที่ไร้ซึ่งความหมาย แต่อิสลามได้วางฐานการดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์ไว้ให้กับมนุษย์ โดยความสมบูรณ์ที่มนุษย์จะได้รับนั้น ย่อมต้องได้มาซึ่งการชี้นำจากผู้ที่สร้างมัน.

วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ฐานะของสตรีในโลกทัศน์อิสลาม(2)

ด้วยพระนามผู้ทรงยิ่งใหญ่

สิ่งที่ปรากฏใน อัลกุรอาน นั้นมีหลายอย่างที่ไม่สามารถจะหาได้พบในคัมภีร์อื่นๆ และสิ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอานในคัมภีร์อื่นๆนั้นไม่มี เช่น ในเรื่องที่เรากำลังจะกล่าวให้กับบรรดาสตรีทั้งหลาย นั่นคือ เรื่องของสตรี สิทธิของสตรี ที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน เรื่องราวของคุณค่าของบรรดาสตรี การให้เกียรติ และการยกย่อง บรรดาสตรีผู้มีความศรัทธา ซึ่งในคัมภีร์อื่นๆ มิได้มีเช่นนี้.
ทัศนะที่เหยียบย่ำสตรีที่ได้ปรากฏมาแล้วในอดีต และยังคงหลงเหลือผลอันไม่น่าชื่นชมยินดี เช่นทรรศนะที่ว่า สตรีเป็นบ่อเกิดของความบาป, การดำรงชีวิตอยู่ของสตรีเพศนั้น คือ บ่อเกิดของความบาป, บุคคลเหล่านั้นกล่าวว่า ความชั่ว ความบาปนั้นผู้หญิงมีส่วนทั้งสิ้น. บุคคลเหล่านั้นมีความเชื่อว่า เพราะการที่ซาตานจะเข้าหาบุรุษเพื่อที่จะหลอกล่อให้กระทำความผิดบาปนั้น ต้องผ่านไปสู่ทางสตรีเท่าน้นที่ซาตานจะสามารถหลอกลวงผู้ชายได้. ทรรศนะของพวกเขานั้น ได้กล่าวว่า อาดัม ซึ่งเป้นมนุษย์คนแรกนั้นก็ถูกหลอกลวงโดยซาตาน จึงต้องออกไปอยู่นอกสวนสวรรค์แห่งความสุข และซาตานที่ยั่วเย้า อาดัม ได้นั้นก็โดยการหลกลวงผ่านทางผู้หญิง นั่นคือ อิวา.
แต่ในทรรศนะของ อัลกุรอาน ได้อรรถาธิบายถึงเรื่องการยั่วเย้าของซาตานนั้น อัลกุรอานได้ใช้สรรพนามในรูปแบบของทวิพจน์(คือ อ้างถึงทั้งสองบุคคล) โดยกล่าวว่า


فَوَسوَسَ لَهُماالشَّيطانُ "ซาตานได้ยั่วเย้าทั้งสองของเขานั้น" (7:20)
และในอีกทรรศนะหนึ่งที่กล่าวถึงสตรีเพศว่า "สตรีนั้นไม่สามารถจะไปสวรรค์ได้ สตรีไม่สามารถที่จะผ่านขั้นตอนทางด้านจิตวิญญาณและขั้นตอนอันเป็นทิพย์ของการรู้แจ้งเห็นจริงได้ สตรีนั้น ไม่สามารถที่จะได้รับหรือบรรลุถึงการเป็นตัวแทนของพระผู้เป็เจ้าได้เหมือนอย่างที่บุรุษได้เป็น" ซึ่งในทางตรงกันข้าม อัลกุรอานได้ทำให้ประเด็นนี้เป็นที่ชัดแจ้ง ซึ่งปรากฏในโองการต่างๆ จำนวนมากที่เกี่ยวกับการตอบแทนรางวังในชีวิตหลังจากความตาย และความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นมิได้ขึ้นอยู่กับเรื่องเพศหญิง หรือเพศชาย แต่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาและการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม.



ในกุรอาน ได้กล่าวถึง ท่านหญิงมัรยัม มารดาของ นบีอีซา ว่า นางได้บรรลุถึงระดับทางจิตวิญญาณอันสูงส่ง จนทำให้บรรดา มะลาอิกะฮ์ ได้มาเยือนนางในที่ๆ นางนมาซ และสนทนากับนาง ส่วนอาหาร และปัจจัยยังชีพนั้น นางก็ได้รับจากสภาพพ้นญาณวิสัย.
ทรรศนะอื่นๆที่เกี่ยวกับสตรีเพศ โดยไปทางที่ไม่น่าชื่นชม หรือบ่งบอกถึงการเหยียดหยามสตรีเพศ อิสลามได้อธิบายถึงเหตุผล หลักการ และที่สำคัญในทรรศนะของอิสลามนั้น มนุษย์ทุกคนคือ ผู้ที่มีความประเสริฐ และมีความใกล้ชิดยังพระผู้เป็นเจ้า เสมอเหมือนกันทุกๆคน หากพวกเขานั้นผ่านการทดสอบ และได้มาซึ่งความศรัทธาอันแท้จริง ที่เป็นเงื่อนไขของพระองค์.
(ต่อฉบับหน้า)

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ฐานะของสตรีในโลกทัศน์อิสลาม






ฐานะของสตรีในโลกทัศน์อิสลาม

ก่อนอื่น คัมภีร์ อัลกุรอาน นั้นมิใช่เป็นเพียงการรวบรวมประมาลกฎหมายไว้เท่านั้น คัมภีร์ อัลกุรอาน มิใช่บรรจุไว้แต่เพียงบทบัญญัติแห่งคำสั่งที่แห้งแล้ง และประมวลกฎหมายที่ปราศจากการวิพากษ์ ก็หามิได้ อัลกุรอาน บรรจุไว้ทั้งประมวลกฎหมายและประวัติศาสตร์,คัมภีร์ อัลกุรอาน มีทั้งคำเร่งเร้า คำขอร้อง คำตักเตือนและการตีความการสร้างสรรค์ในทุกสรรพสิ่ง และยังมีเรื่องอื่นไ อีกนับไม่ถ้วน เพียงแต่คัมภร์ อัลกุรอาน ได้วางระเบียบกฎเกณฑ์ของการปฏิบัติในรูปแบบของตัวบทกฎหมายในบางโอกาส เช่นนั้นแหละที่คัมภีร์ อัลกุรอาน ได้ให้การวิพากษ์ถึงการดำรงอยู่ และภาวะของสิ่งต่างๆ อัลกุรอานได้อรรถาธิบายให้เห็นถึงความเร้นลับต่าง แห่งการสร้างสรรค์โลกและชั้นฟ้า อวกาศ,พืชพันธุ์ต่างๆ,สัตว์ต่างๆ และชาติพันธุ์มนุษย์,ตลอดทั้งความลับแห่งชีวิตและความตาย,ความยิ่งใหญ่ และความทุกข์ทรมาน,ความเจริญเติบโตและความเสื่อมสลาย,ความมั่งคั่งและความยากจน

เรื่องหนึ่งในบรรดาเรื่องทั้งหลายที่ได้มีการกล่าวถึงไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอานั้น ก็คือเรื่อง การสร้างมนุษย์เพศหญิงและเพศชาย ในเรื่องนี้ คัมภีร์ อัลกุรอาน ก็มิได้เงียบเสียงที่จะไม่กล่าวถึง และ อัลกุรอาน ก็ไม่เปิดโอกาสให้แก่คนเหล่านั้นที่พูดในเรื่องเหลวใหลด้วยการสอดใส่ปรัชญาของเขาเองลงไปในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์ทั้งเพศชายและเพศหญิง แล้วกล่าวหาว่าอิสลามนั้นมีทัศนะที่หมิ่นแคลนต่อสตรีเพศ โดยใส่ไว้อย่างแข็งกร้าวในทฤษฎีของพวกเขาเอง อิสลามได้วางทัศนะของมันไว้อย่างเรียบร้อยแล้วเกี่ยวกับสตรีเพศ

ถ้าเราต้องการที่จะดูว่า อัลกุรอาน มีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการสร้างสตรีเพศและบุรุษแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาเข้าไปถึงปัญหาแห่งการสร้างสรรค์ของทั้งสองเพศนั้นว่า ในคัมภีร์แห่งศาสนาอื่นๆ นั้นมีกล่าวไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งนี้ คัมภีร์ อัลกุอาน ก็มิได้เฉยเมยไม่กล่าวไว้แต่ประการใด เราจะต้องดูว่า คัมภีร์ อัลกุรอาน นั้นถือว่าสตรีและบุรุษนั้นเป็นอินทรีย์เดียวกันหรือเป็นสอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง สตรีและบุรุษนั้นมีธรรมชาติแห่งอินทรีย์เป็นหนึ่งเดียวหรือว่าเป็นสอง ในเรื่องนี้ คัมภีร์ อัลกุรอาน ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในหลายโองการ เช่นที่ว่า
"เราได้สร้างเพศหญิงจากธรรมชาตินั้นของมนุษย์ และจากอินทรีย์เดียวกันนั้นเหมือนอย่างธรรมชาตแห่งอินทรีย์ของเพศชาย"
(ต่อฉบับหน้า)
อ้างอิง
สรุปจากหนังสือ สิทธิสตรีในอิสลาม







































































วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เพื่อน (ตอนที่2)

بسم الله الرحمان الرحيم

เพื่อน (ตอนที่2)

ครั้งที่แล้ว เราได้คุยกันถึงเรื่อง “เพื่อน” นิยามของคำว่าเพื่อน ความหมายของคำว่า เพื่อน ในทรรศนะของอิสลาม. เพื่อนนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของแต่ะละบุคคลนั้น ประสบความสำเร็จ หากเพื่อนที่เราคบนั้น ถูกคัดเลือก และมีวิธีในการเลือกที่จะคบ อย่างถูกต้อง.
เมื่อการคบเพื่อนเสมือนเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่ง ของการดำเนินชีวิต ดังนั้น ก็ต้องมี เกณฑ์ในการเลือกเพื่อน เพื่อให้ได้เพื่อนที่ทำให้ปัจจัยอื่นๆ ในการดำเนินชีวิตของเรานั้นสมบูรณ์แบบ.
ความรัก ความผูกพันธ์ของการคบเพื่อนนั้น ย่อมมีไม่เท่ากัน ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่า เพื่อนที่เราคบอยู่นั้น ไม่ว่าจะมีกี่คนก็ตาม เราให้ความรักเท่ากัน และเหมือนกันหมดทุกคน ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้น นิยามหนึ่งที่ใช้ไว้กับคำว่า “เพื่อน” เช่น “เพื่อนซี้” ก็คงจะไม่มีคุณค่า หรือความหมายอะไร! ดังนั้น เพื่อนจึงมีตำแหน่ง และลำดับของความสำคัญที่ไม่เหมือนกัน. บุคคลที่เราจะให้ไว้เป็นเพื่อนซี้ หรือเพื่อนแท้นั้น ควรเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ ที่สมบูรณ์ หรือมีเกณฑ์ที่เราได้ตั้งเอาไว้ ครบสมบูรณ์เช่นกัน. เกณฑ์การตัดสิน และให้ลำดับความสำคัญของเพื่อนซี้ ของบุคคลทั่วไปคือ ความรู้สึก ว่าเพื่อนนั้นมีอุปนิสัยใจคอ และคุณลักษณะบางประการที่สามารถเข้ากันได้ดี จึงได้รับความรัก และความผูกพันธ์ฉันท์เพื่อนมากเป็นพิเศษ.
ถึงตรงนี้เกณฑ์การเลือกเพื่อนซี้ ในทรรศนะของอิสลาม ก็ระบุอย่างเด่นชัด เพื่อเป็นการชี้นำให้กับทุกคนว่า ควรเลือกคบเพื่อน ประเภทใด?
ในรายงานหะดีษต่างๆ ได้แบ่งเพื่อนออกเป็นแต่ละประเภท : รายงานหนึ่งที่กล่าวในวันนี้เป็น ;
รายงานจากอิมามซอดิก (อ) กล่าวว่า “เพื่อนนั้นมีขอบเขต บุคคลใดที่ไม่ได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้นั้น ถือว่าไม่ใช่เพื่อนแท้ หรือบุคคลที่ไม่มีคุณลักษณะอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด นั่นก็ไม่ใช่เพื่อน.
ลำดับที่หนึ่ง เพื่อนคือ : บุคคลที่เป็นหนึ่งเดียวกับเจ้า ทั้งภายนอกและภายใน.
ลำดับที่สอง เพื่อนคือ : ความงาม และศักดิ์ศรีของเจ้า คือความงาม และศักดิ์ศรีของตัวเอง และสิ่งไม่ดีของเจ้า คือสิ่งไม่ดีของตัวเอง.
ลำดับที่สาม เพื่อนคือ : เมื่อได้มาซึ่งตำแหน่ง และลาภ ยศ ความเป็นเพื่อนก็ยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง.
ลำดับที่สี่ เพื่อนคือ : ในความเป็นเพื่อน เมื่อเพื่อนมี เพื่อนจะไม่ตระหนี่กับเจ้า.
ลำดับที่ห้า เพื่อนคือ : เพื่อนไม่ทิ้งกันในยามประสบกับปัญหา.”
ทั้งหมดนี้ เป็นเกณฑ์การเลือกคบเพื่อนซี้ หากบุคคลที่เราเลือกจะให้เป็นเพื่อนนั้น มีคุณสมบัติครบสมบูรณ์ตามนี้ แน่นอนต้องขอบอกว่า เขานั้นคือ “เพื่อนซี้” 100 เปอร์เซนต์.
อาจรู้สึกได้ว่า คุณลักษณะดังกล่าวนี้ ย่อมหาได้ยาก แต่ก็ขอบอกว่า อย่าท้อ เพราะการได้มาซึ่งสิ่งที่มีค่า ย่อมมีอุปสรรคมาขวางกั้น. สำหรับฉบับนี้ ฝากไว้กับน้องๆทุกคนน่ะค่ะ เลือกเพื่อนอย่าได้ท้อ เพราะเพื่อน เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของชีวิตเราเช่นกัน. ก่อนจากฉบับนี้ ขอฝากรายงานอีกบทหนึ่ง ของท่านอิมามซอดิก (อ) ท่านกล่าวว่า “เพื่อนของบรรดาพี่น้องผู้ศรัทธานั้น เป็นส่วนหนึ่งของศาสนา และบุคคลที่มีสติปัญญา คือผู้ปกป้องศาสนาให้กับท่าน”

วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552

เพื่อน (ตอนที่ 1)

بسم الله الرحمن الرحيم


ความหมายของคำว่า “เพื่อน”
เพื่อนในทรรศนะของแต่ละคน มความหมาย และให้นิยามไว้ไม่เหมือนกัน นิยามของคำว่า เพื่อน เป็นนิยามที่กลั่นออกมาจากความรู้สึก ความสัมพันธ์ท่มระหว่างกันและกัน เช่น เพื่อน คือคนที่รู้ใจ, เพื่อนแท้ , เพื่อนรัก, เป็นต้น
สำหรับในทรรศนะของอิสลาม คำว่า “เพื่อน” จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. เพื่อนแท้
2. เพื่อนลวง
ความหมายของคำว่า “เพื่อนแท้” ในทรรศนะของอิสลาม เป็นความผูกพันธ์อันลึกซึ้งสมบูรณ์ ซึ่งความสัมพันธืเหล่านี้ บรรดานบี บรรดาอะห์ลุลบัยต์ (อ) และบรรดาผู้ศรัทธา ได้มอบความผูกพันธ์อันบริสุทธิ์ให้กับอัลลอฮ์ (ซ.บ) เพียงองค์เดียว เพราะพระองค์คือ สหายที่แท้จริง ความผูกพันธ์ที่มอบให้กับพระองค์ จะยิ่งเพิ่มพูน และมีความต้องการที่จะแสวงหาความใกล้ชิดยังพระองค์เสมอ ในทุกๆวินาที ซึ่งอัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงกล่าวถึงบรรดาสหายเช่นพวเขาไว้ดังนี้
وَالَّذِينَ آمَنُواْ أَشَدُّ حُبًّا لِّلّهِ “แต่บรรดาผู้ศรัทธานั้น รักอัลลอฮ์มากยิ่งกว่า”
ในความหมายที่สอง “เพื่อนลวง” ทรรศนะอิสลาม คือ ทุกการให้ความรัก และความผูกพันธ์เหนืออื่นจากอัลลอฮ์ (ซ.บ) เช่น การให้ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในความรัก ความผูกพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์นั้น ย่อมที่จะมีสิ่งดีและไม่ดีตามสถานภาพของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น อิสลามได้เสนอแนะเกณฑ์ในการเลือกคบเพื่อน และสร้างแบบอย่างของการคบเพื่อน เพื่อเป็นผลดี และเกิดความสำเร็จในชีวิต
เพื่อนที่ดีนั้น ย่อมพาให้ไปในทางที่ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อนที่ทำให้รำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซ.บ) แต่ถ้าในทางกลับกันเพื่อนก็ทำให้เกิดชีวิตหักเห และหลงผิด ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการเลือกคบเพื่อน ย่อมเป็นหัวข้อท่สำคัญอย่ายิ่ สำหรับการดำเนินชีวิต เพราะเรามิอาจที่จะหลีกห่างจากสังคม และการพึ่งพาไม่ได้ ถ้าหากต้องการให้ชีวิต พบสิ่งที่ดี หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยของการเลือกเช่นกัน.
สำหรับฉบับนี้ขอฝากไว้ให้กับน้องๆเยาวชน ที่กำลังมองหาเพื่อนที่ดี เพื่อประดับบารมีให้กับตนเองนะค่ะ สำหรับฉบับหน้าพี่จะนำเสนอวิธีการเลือกคบเพื่อนในแบบฉบับอิสลามมาฝากค่ะ.

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

บทบาทวีรสตรีแห่งกัรบะลา

บทบาทวีรสตรีแห่งกัรบะลา

เป็นเวลากว่า 1400 ปี ณ ผืนแผ่นดินกรัรบะลา ได้ถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตรอิสลาม. เป็นสงครามที่ทำให้เกิดความเศร้าสลด เกิดขึ้นในใจของบรรดาผู้ที่มีความรักต่อท่านนบี (ซ.ล). ณ ช่วงเวลาตรงนั้น มาถึงปัจจุบัน จะมีคำถามที่ขึ้นต้นด้วยกับคำว่า ทำไม?. ขอย้อนเวลา กลับไป ณ ท้องทุ่งกัรบะลา ณ ที่ตรงนั้น เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) เพียง 50 ปี ในปีที่ 61 เป็นปีแห่งการสูญเสียหลานอันเป็นที่รักของท่านศาสดา (ซ.ล) และเป็นปีแห่งการกระชากหน้ากาก ของเหล่าบรรดาที่อ้างตนเองว่าเป็นผู้ที่รักในศาสดา แต่ได้กระทำการป่าเถื่อนกับบุตรหลานของท่าน.
ผู้นำทัพของเหตุการณ์แห่งกัรบะลานั้นคือ ฮุเซน อิบนิ อะลี บุตรชายของท่านอิมาม อะลี อิบนิ อบีฏอลิบ และท่านหญิง ฟาฏิมะฮ์ (ซ)บุตรีของท่านศาสดา (ซ.ล) ถือได้ว่า ท่านเป็นหลานที่มีเลือดเนื้อที่ใกล้ชิดกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล). หลานท่านผู้นี้ เป็นผู้ที่ท่านนบีให้ความรัก และให้การดูแล อย่างใกล้ชิด ตลอดจน บรรดาศอฮาบะฮ์ และบุคคลที่รู้จักท่านได้ยินคำกล่าวจากท่าน ที่มีต่อหลานของท่านคนนี้ว่า “ฮุเซน นุม มินนี วะ อะนะ มิน ฮุเซน” ฮุเซนนั้นมาจากฉัน และฉันนั้นมาจากฮุเซน. ใครก็ตามที่ได้ยินคำกล่าวนี้ เขานั้นรู้ดีว่า ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) นั้นมีความรัก และผูกพันธ์ ต่อหลานของท่านคนนี้อย่างไร?. แต่เป็นที่น่าฉงนใจ เป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งๆที่รู้ว่านี่คือ หลานผู้เป็นที่รักยิ่งของท่านศาสดา แล้วทำไมเหตุการณ์ ปลิดชีพ หลานของท่านจึงเกิดขึ้น?
หลังจากที่เหล่าบุรุษ เด็กหนุ่ม และเด็กทารกน้อยที่มีอายุเพียง 6 เดือน. ได้ถูกสังหารลงหมดสิ้น เหลืือก็เพียงแต่บรรดาสตรี และเด็กๆ ที่ไร้ซึ่งการปกป้อง จากผู้ที่เคยอยู่ใกล้ชิดพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น พี่ชาย สามี และลูกชายของพวกนาง ได้ถูกสังหารจนหมดสิ้น. เหตุการณ์อาชูรอนี้ ถือเป็นบทเรียนอันสมบูรณ์ ที่ถูกบันทึกไว้ให้กับคนรุ่นหลัง บทเรียนที่เหล่าบรรดาบุรุษได้ช่วยกันเขียนขึ้น เป็นบทเรียน แห่งความกล้าหาญ และการยืนหยัดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งการดำเนินชีวิตอันแท้จริงนั้น ต้องไม่อยู่ภายใต้ความไร้ซึ่งเกียรติ และศักดิ์ศรี หรือทำให้ตนเองนั้นตกต่ำ เช่นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งอาจารย์ผู้เริ่มบทเรียนนั้นคือ อิมาม ฮุเซน (อ) และผู้ช่วยของท่านคือ เหล่าบุรุษผู้กล้า ที่ช่วยให้บทเรียนอันมีค่านี้สมบูรณ์ขึ้น. และผู้ที่ทำให้บทเรียนอันล้ำค่านี้ ได้แผ่กระจายไปสู่ประชาชาติอิสลามนั้น ก็คือ เหล่าบรรดาสตรีและเด็ก ที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ในวันนั้น. เหตุการณ์ทั้งหมดที่พวกนางได้เห็นทุกมวลภาพ ทุกคำพูดทั้งหลายที่พวกนางได้ยิน ได้รับฟัง และได้กล่าวออกไป เพื่อให้กำลังใจ ต่อเหล่าบรรดาบุรุษผู้กล้าเหล่านั้น. สิ่งที่พวกนางได้ร่วมมือกันเขียนขึ้น เป็นอีกหนึ่งบทเรียนอันล้ำค่า และยิ่งทำให้เหตุการณ์อาชูรอนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีวันสูญสลาย หรือถูกลืมเลือน ไม่ว่าจะอยู่ในสมัยใดก็ตาม. บทเรียนแห่งความอดทน บทเรียนแห่งการเสียสละ และการยืนหยัดต่อหน้าเหล่าศัตรูที่จ้องหาโอกาส ที่จะทำลายชื่อเสียงของเหล่าบรรดาบุรุษผู้กล้าเหล่านั้น. พวกนางยืนหยัดปกป้องเกียรติ และศักดิ์ศรีของผู้พลีชีพ และเป็นผู้ป่าวประกาศสาสน์แห่งกัรบะลา และอุดมการณ์ของท่านอิมาม ฮุเซน (อ) ทั้งหมดนี้ มาจากการปฏิบัติของเหล่าบรรดาสตรีแห่งกัรบะลาทั้งสิ้น. และหัวหน้าสตรีที่เป็นผู้ยืนหยัดที่มั่นคง และเป็นเสาหลักให้กับบรรดาสตรีเหล่านั้น คือ ท่านหญิง ซัยหนับ (ซ) บุตรี ของท่านอิมามอะลี (อ) และท่านหญิง ฟาฏิมะฮ์ (ซ) เป็นน้องสาวอันเป็นที่รักยิ่งของท่านอิมามฮุเซน (อ). ความอดทน และความเด็ดเดี่ยวของนางนั้น พี่ชายของนางได้ให้โอวาทไว้กับนาง ก่อนที่ท่านจะถูกสังหาร ไว้ว่า “โอ้น้องเอ๋ย หลังจากการเสียชีวิตของพี่ จงอดทน และจงอย่าปฏิบัติการใด ที่ทำให้ศัตรูนั้นดีใจ”
ทั้งหมดนี้คือ บทบาทของเหล่าบรรดาสตรี และผู้ที่ทำให้อุดมการณ์ของอิมาม ฮุเซน (อ) ได้คงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าจะเกิดในยุคใดๆก็ตาม.