วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เพื่อน (ตอนที่2)

بسم الله الرحمان الرحيم

เพื่อน (ตอนที่2)

ครั้งที่แล้ว เราได้คุยกันถึงเรื่อง “เพื่อน” นิยามของคำว่าเพื่อน ความหมายของคำว่า เพื่อน ในทรรศนะของอิสลาม. เพื่อนนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของแต่ะละบุคคลนั้น ประสบความสำเร็จ หากเพื่อนที่เราคบนั้น ถูกคัดเลือก และมีวิธีในการเลือกที่จะคบ อย่างถูกต้อง.
เมื่อการคบเพื่อนเสมือนเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่ง ของการดำเนินชีวิต ดังนั้น ก็ต้องมี เกณฑ์ในการเลือกเพื่อน เพื่อให้ได้เพื่อนที่ทำให้ปัจจัยอื่นๆ ในการดำเนินชีวิตของเรานั้นสมบูรณ์แบบ.
ความรัก ความผูกพันธ์ของการคบเพื่อนนั้น ย่อมมีไม่เท่ากัน ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่า เพื่อนที่เราคบอยู่นั้น ไม่ว่าจะมีกี่คนก็ตาม เราให้ความรักเท่ากัน และเหมือนกันหมดทุกคน ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้น นิยามหนึ่งที่ใช้ไว้กับคำว่า “เพื่อน” เช่น “เพื่อนซี้” ก็คงจะไม่มีคุณค่า หรือความหมายอะไร! ดังนั้น เพื่อนจึงมีตำแหน่ง และลำดับของความสำคัญที่ไม่เหมือนกัน. บุคคลที่เราจะให้ไว้เป็นเพื่อนซี้ หรือเพื่อนแท้นั้น ควรเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ ที่สมบูรณ์ หรือมีเกณฑ์ที่เราได้ตั้งเอาไว้ ครบสมบูรณ์เช่นกัน. เกณฑ์การตัดสิน และให้ลำดับความสำคัญของเพื่อนซี้ ของบุคคลทั่วไปคือ ความรู้สึก ว่าเพื่อนนั้นมีอุปนิสัยใจคอ และคุณลักษณะบางประการที่สามารถเข้ากันได้ดี จึงได้รับความรัก และความผูกพันธ์ฉันท์เพื่อนมากเป็นพิเศษ.
ถึงตรงนี้เกณฑ์การเลือกเพื่อนซี้ ในทรรศนะของอิสลาม ก็ระบุอย่างเด่นชัด เพื่อเป็นการชี้นำให้กับทุกคนว่า ควรเลือกคบเพื่อน ประเภทใด?
ในรายงานหะดีษต่างๆ ได้แบ่งเพื่อนออกเป็นแต่ละประเภท : รายงานหนึ่งที่กล่าวในวันนี้เป็น ;
รายงานจากอิมามซอดิก (อ) กล่าวว่า “เพื่อนนั้นมีขอบเขต บุคคลใดที่ไม่ได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้นั้น ถือว่าไม่ใช่เพื่อนแท้ หรือบุคคลที่ไม่มีคุณลักษณะอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด นั่นก็ไม่ใช่เพื่อน.
ลำดับที่หนึ่ง เพื่อนคือ : บุคคลที่เป็นหนึ่งเดียวกับเจ้า ทั้งภายนอกและภายใน.
ลำดับที่สอง เพื่อนคือ : ความงาม และศักดิ์ศรีของเจ้า คือความงาม และศักดิ์ศรีของตัวเอง และสิ่งไม่ดีของเจ้า คือสิ่งไม่ดีของตัวเอง.
ลำดับที่สาม เพื่อนคือ : เมื่อได้มาซึ่งตำแหน่ง และลาภ ยศ ความเป็นเพื่อนก็ยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง.
ลำดับที่สี่ เพื่อนคือ : ในความเป็นเพื่อน เมื่อเพื่อนมี เพื่อนจะไม่ตระหนี่กับเจ้า.
ลำดับที่ห้า เพื่อนคือ : เพื่อนไม่ทิ้งกันในยามประสบกับปัญหา.”
ทั้งหมดนี้ เป็นเกณฑ์การเลือกคบเพื่อนซี้ หากบุคคลที่เราเลือกจะให้เป็นเพื่อนนั้น มีคุณสมบัติครบสมบูรณ์ตามนี้ แน่นอนต้องขอบอกว่า เขานั้นคือ “เพื่อนซี้” 100 เปอร์เซนต์.
อาจรู้สึกได้ว่า คุณลักษณะดังกล่าวนี้ ย่อมหาได้ยาก แต่ก็ขอบอกว่า อย่าท้อ เพราะการได้มาซึ่งสิ่งที่มีค่า ย่อมมีอุปสรรคมาขวางกั้น. สำหรับฉบับนี้ ฝากไว้กับน้องๆทุกคนน่ะค่ะ เลือกเพื่อนอย่าได้ท้อ เพราะเพื่อน เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของชีวิตเราเช่นกัน. ก่อนจากฉบับนี้ ขอฝากรายงานอีกบทหนึ่ง ของท่านอิมามซอดิก (อ) ท่านกล่าวว่า “เพื่อนของบรรดาพี่น้องผู้ศรัทธานั้น เป็นส่วนหนึ่งของศาสนา และบุคคลที่มีสติปัญญา คือผู้ปกป้องศาสนาให้กับท่าน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น